สร้อยเสน่หา --------- พายุแห่งแรงสวาทปรารถนา เหลิงลีลาล่องตามธารน้ำผึ้ง หอบเกลียวคลื่นชื้นหวานซาบซ่านตรึง มาอวลอึงซึ้งสั่งเซาะฝั่งใจ การเฝ้าคอยร้อยประคำร่ำเสน่ห์ อาจว้าเหว่อาวรณ์หรืออ่อนไหว แต่คัมภีร์วลีรักตระหนักนัย จะสอนให้ได้รู้การอยู่รอ เมื่อมงกุฏคืนวันอาถรรพณ์ทิพย์ เริ่มลอยลิบไหลเลื่อนสู่เรือนหอ บันดาลโดยดุริย์ศัพท์เคลิ้มขับคลอ เอี่ยมลออเอิบอาบเพียงภาพพิมพ์ ฟื้นไฟฟอนฟ้อนรำในสำนึก โรยรู้สึกซับซ้อนฉะอ้อนอิ่ม แนบขนองเหนือเขนยชวนเชยชิม พานพักตร์พริ้มนิ่มสนิทจุมพิตพรม เรียวรุ้งรักถักใยไปสวรรค์ เพื่อลงทัณฑ์เทพธิดาให้สาสม ชดเชยเจือเผื่อคืนร้างชื่นชม แทนผ้าห่มโหยหาห่วงมานาน พายุแห่งแรงสวาทปรารถนา ได้พัดพาเพลงแผ่วพรแว่วหวาน ฝนน้ำค้างพร่างพรูสู่วิมาน เริงสำราญระหว่างห้วงสองดวงใจ โดย อนุสรณ์ ลิ่มมณี (กวีร่วมสมัยวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์)
คีตลักษณ์ลีลา --------- ลมฤดูลีลาแห่งหน้าร้อน พเนจรไปแล้วอย่างแผ่วโผย จนขณะไร่กว้างซึ่งร้างโรย จะปลิดโปรยใบไม้ลงร่ายรำ เหมือนลีลาศนาฏกรอันซ้อนซับ เริงระยับระนาบเนื่องสู่เบื้องต่ำ ถวิลถึงวันผ่านเคยกร้านกรำ และลำนำคีตลักษณ์บนวรรควัย แววขจีเยือกเย็นความเป็นสาว กับแผงราวผีเสื้อเมื่อวับไหว คือหัตถ์ทอดสวาทหวำอยู่รำไร หวานน้ำใจชื่นชิมอยู่ริมทรวง จวบทูตแห่งเวลาก้าวมาถึง ความสาวซึ่งสูงค่าก็ราร่วง ดอกไม้และความรักเคยตักตวง ก็หล่นควงพลัดผลอยลงพร้อยดิน รอคืนวันจมจ่อมในหย่อมหญ้า ดับชีวาเปลืองเปล่าเน่าเปื่อยสิ้น รูปธรรมเมื่ออุบัติย่อมผลัดภินท์ และผ่านผินวงวัฏอนัตตา ชีวิตจัดลัทธิปฏิภาค มากความอยากมุ่งแข่งแสวงหา ยิ่งกอบโกยเท่าใดยิ่งได้มา ยิ่งมีค่าสูญเปล่าเท่านั้น โดย ชาติชาย อัครวิบูลย์ (กวีร่วมสมัยวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์)
บนสายเปลกาลเวลา --------------- ก็ไกวเปลเวลาทอดมาถึง ศรน้ำผึ้งซึ้งซ้อนแววอ่อนไหว ชะลอผ่านม่านฟ้านภาลัย ดิ่งลงไปในทรวงและดวงตา วารีรสเลอศักดิ์ตำหนักสรวง รอตักตวงเติมเล่ห์เสน่หา มนต์เมฆหมอกนฤมิตรทิพย์นิทรา หรือจะราโรยฝันนิรันดร วงเวียนวัยชีวิตพิศวาส ดารดาษโดยสุขซึ่งซุกซ่อน พิณปลายนิ้วพลิ้วกรีดคีตกร ชะรอยร่อนเร่งเร้าอยู่เท่านาน เพียงเพลงเปลเห่ฝากสู่ฟากฟ้า รับรักมาเมืองดินถวิลหวาน ดอกไม้ดาวพราวพรรณอันตระการ ลอยลงบานฉานฉายประกายกรอง ละลิ่วเลื่อนเลือนกับการหลับไหล รื่นละไมริ้วลมคอยข่มหมอง ตื่นตาตามความหวังเคยรังรอง นิยายของความรักหรือจักทวน ซึ่งสายเปลเร่คว้างระหว่างหาว เมื่อถึงคราวขาดร่วงย่อมห่วงหวน สิ้นเพลงเปลเห่ขวัญเคยรัญจวน เสียงคร่ำครวญสะอื้นอ้อนสะท้อนแทน โดย อนุสรณ์ ลิ่มมณี
ที่ยกมานี้เป็นกลอนที่ผมชอบมาก เพราะเล่นสัมผัสแพรวพราว ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร อ่านแล้วรู้สึกว่าลื่นไหลดีมาก ไม่สะดุดเลย สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ 1. สัมผัสสระช่วงหลัง (คำที่ 5 กับ 6 หรือ 5 กับ 7) เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ และกลอนที่ยกมา 3 ชิ้นนี้ไม่มีวรรคไหนที่ขาด สัมผัสตัวนี้เลย และส่วนใหญ่จะนิยมสัมผัสกระโดด คือ คำที่ 5 กับ 7 มากกว่า 5 กับ 6 2. ถ้าเป็นไปได้ วรรคแรกกับวรรคที่สาม (กลอนบทนึงมี 4 วรรค) ควรจะมีสัมผัสสระช่วงแรก (คำที่ 3 กับ 4) ด้วย จะทำให้กลอนบทนั้น ดูเนี้ยบยิ่งขึ้น หากหาสัมผัสสระไม่ได้ สัมผัสอักษรก็ยังดี 3. สัมผัสอักษร ถ้ามี ไม่ว่าตรงไหนกับตรงไหน หรือวรรคไหน ก็ดูดีทั้งนั้น 4. กลอนแต่ละชิ้นจะมีความยาว 6 บทเท่ากัน ถือเป็นมาตรฐาน