รวม 2 บทกวี

ก ลั บ เ ถิ ด เ ท พ ธิ ด า ----------------------- เชิญเถิดเทพธิดาโพ้นปราสาท ยุรยาตรกลับสู่ประตูสรวง ลืมนิยายยืดยาวดาวบางดวง ซึ่งหลอกลวงร้อยเล่ห์หลอนเทวี ระหว่างดาวราหูเริ่มหรู่ดับ และช่วงกัปขาดพลังทิพย์รังสี ก็กำเริบเติบโตธาตุโลกีย์ เติมธุลีตัณหาแห่งอารมณ์ มือซึ่งเคยบริสุทธิ์มนุษย์ชาติ โดนบ่วงบาศคอยยื้อให้รื้อล่ม มิอาจก่อความหวังแก่สังคม ซึ่งจ่อมจมในระลอกริ้วหมอกควัน และเพลงพรอ่อนเคลิ้มลงเจิมภพ ถึงคำรบร้างค่าสิ้นอาถรรพณ์ มาตรการหนักหน่วงจากปวงทัณฑ์ เกินจะบั่นโซ่อำนาจให้ขาดไป บนเส้นทางจักรวาลจรดลานหาว ซึ่งช่วงก้าวเวลาทอดมาได้ ค่านิยามหมุนนิยามแปรตามวัย เปลี่ยนหัวใจ,ความฝันเปลี่ยนสันดาน กลับเถิดเทพธิดาโพ้นปราสาท ห้วงไสยาสน์รื่นโรยรอโดยสาร ทิ้งภพนี้ไว้บนแอกความแหลกราน อันตรธานตามกัลป์พุทธันดร โดย อนุสรณ์ ลิ่มมณี (รายนี้ต้องยกให้เขาในเรื่องความลื่นไหลไพเราะ ของบทกวี เรียกว่าอ่านแล้วเพลิน ไม่มีสะดุดหรือ ติดขัดเลย สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ 1. สัมผัสสระช่วงหลัง มักใช้สัมผัสกระโดด (คำที่ 5 กับ 7) เสียเป็นส่วนใหญ่ 2. สัมผัสดังกล่าวนั้นมักจะเป็นเสียงเดียวกัน เสียด้วย สองบทสุดท้ายใน 6 บทจะเห็นชัดที่สุด ว่าเป็นเสียงเดียวกันทุกวรรค รวม 8 วรรคทีเดียว อธิบายเฉพาะบทสุดท้ายนะ คือ ดา กับ ปรา เป็นเสียงสามัญด้วยกัน โรย กับ โดย " " แอก กับ แหลก เป็นเสียงเอกด้วยกัน กัลป์ กับ ธัน เป็นเสียงสามัญด้วยกัน สรุปว่า สัมผัสสระ ไม่ว่าตรงไหนกับตรงไหน ควรจะเป็นเสียงเดียวกันถ้าเป็นไปได้ เพราะจะทำให้ บทกวีมีความลื่นไหลมากขึ้น)
(เพื่อไม่ให้เครียดหรือเป็นวิชาการเกินไป ขอสลับฉากด้วย บทกวีประเภทหวานแหววบ้าง:
ด า ว ดั บ ใ น ด ว ง ต า ----------------------- เงยหน้าดูดาวเหนือเพื่อชี้ทิศ ทางชีวิตซ้อนซับจนสับสน ฉันกำลังหลงทางท่ามกลางคน และดิ้นรนแสวงหาความปรานี อย่างหิวโหยเสน่หาจากตาสาว ผู้จุดดาวเหนือให้ใจฉันนี่ ถวิลถึงช่อดอกไม้แห่งไมตรี ซึ่งจะมีโดยใครไม่สำคัญ เพียงมือนุ่มกุมมืออย่างซื่อสัตย์ จูงหลีกลัดหนามไหน่อย่างไม่หวั่น ตาต่อตาประสานใจให้แก่กัน เน้นสัมพันธ์สัมผัสหัตถ์แห่งใจ ฉันรอคอยความรักอนรรฆค่า ด้วยศรัทธาแท้จริงและยิ่งใหญ่ แม้หลายครั้งเบื่อจะรอรักต่อไป แต่เหมือนไฟยากจะมอดตลอดกาล แพรสีดำคลี่คลุมฟ้าคลุ้มฝน ไม่รู้หนรู้ทิศชีวิตหวาน ในช่วงที่หลงทางช่างยาวนาน เที่ยวซมซานซอกซอนใจร้อนรน เงยหน้าดูดาวเหนือเพื่อชี้ทิศ ทางชีวิตซ้อนซับจนสับสน ฉันกำลังหลงทางท่ามกลางคน และอับจนกระทั่งเงาดาวตาใคร โดย สุพันธ์ ธำรงสัตย์
(บทกวีความยาว 6 บทแบบนี้ ไม่แปลกอะไรที่วรรคแรก ของบทแรกจะเหมือนกับวรรคแรกของบทสุดท้ายทุกตัวอักษร เรียกว่าเป็นการย้ำความเดิม เพื่อที่จะสรุปจบในบทนี้ แต่กลอนชิ้นนี้มาแปลกตรงที่เหมือนกันถึง 3 วรรคแน่ะ สรุปแล้วกลอนทั้งบทเปลี่ยนเฉพาะวรรคสุดท้ายวรรคเดียว แต่เขาก็ทำได้ดีทีเดียว จริงไหม?)
Back to Previous Page