ไทเก้อร์ - สุดยอดรถถังเยอรมัน - ภาค 2

ไทเก้อร์เข้าประจำการ
หน่วยรบของเยอรมันหน่วยแรก ที่ได้รับไทเก้อร์ รุ่น E ก็คือหมวดรบที่ 1 ของกองร้อย SPzAbt 502 ซึ่งถูกส่งพร้อมรถถังไทเก้อร์ 4 คัน ไปยังแนวหน้าที่สตาลินกราดในเดือนสิงหาคม 1942 ในวันเข้าสู่สมรภูมิเป็นวันแรก ไทเก้อร์ทั้ง 4 คันถูกน้อคเอ้าท์ แม้ว่าตอนหลังจะกู้คืนมาได้ 3 คัน ไทเก้อร์ถูกใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง ถูกนำไปวิ่งบนภูมิประเทศที่ไม่เหมาะสม ต่อการปฏิบัติการของรถถัง พื้นที่นั้นเป็นที่ลุ่มและเป็นป่าทึบ ซึ่งบังคับให้ไทเก้อร์ต้องวิ่งไปตามเส้นทางที่มีอยู่เดิมในป่า พลปืนต่อสู้รถถังที่มีประสบการณ์ของโซเวียต ซึ่งเตรียมพร้อมรับมืออย่างดีในที่ซุ่มยิง สามารถที่จะทำให้ไทเก้อร์หมดพิษสง แม้ว่าจะไม่สามารถเจาะเกราะคันไหนได้ก็ตาม

หลังจากการซ่อมสร้างและการเสริมกำลังรบ รถถังไทเก้อร์ของหมวดรบที่ 1 ก็เดินหน้าแสดงบทบาทสำคัญ ในการต่อสู้ที่แนวหน้าในรัสเซีย ทำลายรถถังรัสเซียหนึ่งในสี่ ของจำนวนที่ถูกทำลายทั้งหมดในช่วง 4 เดือน ของการบุกโจมตีในปี 1943 ความสำเร็จนี้มิใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะว่าหมวดรบนี้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง มีรถถังไทเก้อร์ใช้งานไม่เกิน 7 คันเท่านั้น

หน่วยรบอื่นๆ ก็ได้รับการฝึกให้ใช้ และเสริมเขี้ยวเล็บด้วยรถถังไทเก้อร์ พอปลายปี 1942 ขบวนรถถังไทเก้อร์อันเกรียงไกร ก็ถูกส่งเข้าสมรภูมิในรัสเซีย อาฟริกา และอิตาลี ศูนย์ฝึกถูกจัดตั้งขึ้น ทั้งในเยอรมันและในฝรั่งเศส (ซึ่งขณะนั้นถูกเยอรมันยึดครองเรียบร้อยโรงเรียนฮิตเล่อร์ไปแล้ว) และในที่สุดแล้ว รถถังไทเก้อร์ ก็เข้าประจำการในกองพันรถถังหนัก 10 กองพัน กองพันฝึกรบ 1 กองพัน กองพันรถถังหนักหน่วย "SS" 3 กองพัน และกองพลรถถัง Grossdeutschland หน่วยรบอื่นอีกสองสามหน่วย ก็ได้รับรถถังไทเก้อร์เช่นกันในจำนวนที่ไม่มาก

กองพันรถถังไทเก้อร์ได้รับการจัดวางกำลังย่อยเป็นระดับหมวดหมู่ และสามารถปฏิบัติการ โดยเป็นอิสระจากกัน หรือเพื่อช่วยเหลือหน่วยอื่นในการตะลุยฝ่าแนวของข้าศึก หรือสะกดการยิงต่อสู้ของข้าศึก ในเวลาที่เกิดความสูญเสียมาก หรืออุปกรณ์ขาดแคลน บางครั้งรถถังไทเก้อร์ก็สนธิกำลังกับหน่วยรบหุ้มเกราะอื่นๆ หรือจัดตั้งเป็น Kampfgruppen (กลุ่มยุทธการ) โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางยุทธวิธี

การปรับปรุงรถถังไทเก้อร์
ขณะที่การผลิตรถถังไทเก้อร์เพิ่มขึ้นตามกระแส และรายงานต่างๆ จากหน่วยรบเริ่มหลั่งไหลเข้ามา มันก็ปรากฎชัดว่า ควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเจ้าไทเก้อร์ เคิร์ท อาร์โนลด์ ยังคงแอบติดต่อกับทั้งนายทหารและกำลังพล ที่มีชื่ออยู่ในกองพันรถถังไทเก้อร์ ถึงแม้ว่าจะเป็น การกระทำที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรงก็ตาม โดยทางการแล้ว จะต้องไม่มีการติดต่อใดๆ ระหว่างทหารผู้ใช้อุปกรณ์และผู้ผลิต จุดแรกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ก็คือความเชื่อถือได้ของแชสซี และระบบส่งกำลังของเจ้าไทเก้อร์

ปัญหาต่างๆ ที่ได้รับรายงาน ก็ได้รับการแก้ไขไปทีละเล็กทีละน้อย ถึงแม้ว่าจะมีบางปัญหาที่ไม่สามารถ แก้ไขได้เด็ดขาดก็ตาม (ปัญหาเรื่องน้ำแข็งและหิมะแข็งตัวบนล้อกดสายพาน ไม่ได้ถูกแก้ไขจนกระทั่ง มีการเปิดตัว ไทเก้อร์ 2 ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการวางซ้อนเหลื่อมของล้อกดสายพานใหม่) เครื่องยนต์ 650 แรงม้าถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ 700 แรงม้า และระบบเกียร์ก็ได้รับการปรับปรุง ด้วยการปรับปรุงเหล่านี้ เจ้าไทเก้อร์จึงแสดงผลงานได้ดีพอสมควรในการใช้งานปกติ แม้จะมีเครื่องยนต์พลังแรงม้าสูงขึ้น ก็ไม่มีพลังสำรองเพียงพอที่จะไปลากไทเก้อร์คันอื่นที่เครื่องพัง โดยที่ไม่เสี่ยงว่าจะพังตามไปด้วย มีแต่พาหนะกู้ซ่อมรถถังขนาดหนักเท่านั้นที่จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่พาหนะดังกล่าวก็มักจะขาดแคลนเสมอ เพราะพวกมันต้องคอยติดตามสนับสนุนหน่วยรถถังแพนเธ่อร์ (พาหนะดังกล่าวคือ รถกึ่งสายพานขนาดหนักรุ่น SdKfz 9 ขนาด 18 ตัน ซึ่งต้องใช้ต่อพ่วงกันถึง 3 คันเพื่อลากเจ้าไทเก้อร์คันเดียว)

การปรับปรุงอื่นๆ ที่มีต่อเจ้าไทเก้อร์ ความจริงแล้วเป็นความพยายามที่จะสร้างมาตรฐาน ให้กับโครงการผลิตรถถังของเยอรมัน โดยการใช้ส่วนประกอบมาตรฐาน ซึ่งจะใช้เหมือนๆ กันในรถถังแบบต่างๆ ของเยอรมัน ด้วยวิธีนี้ กองทัพบกเยอรมันมุ่งหวัง ว่าจะผลิตได้รวดเร็วขึ้น และบรรเทาสถานการณ์ชิ้นส่วนขาดแคลน ระหว่างปลายปี 1943 รถถังไทเก้อร์ที่ออกจากสายการผลิต เริ่มจะมี cupola ของผู้บังคับการรถที่เตี้ยลง ซึ่งถูกออกแบบ สำหรับใช้กับ ไทเก้อร์ 2 รุ่น B เครื่องยิงลูกระเบิดแบบ "S" ที่ติดตั้งภายนอก ถูกยกเลิกเมื่อมีการปรับแต่ง ป้อมปืนในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1943 ป้อมปืนใหม่ติดตั้ง Nahverteidigungswaffe (อาวุธป้องกันตัวระยะประชิด) - เครื่องยิงลูกระเบิดที่กลับด้านได้ ติดตั้งในหลังคา ซึ่งได้รับการบรรจุกระสุนจากภายในรถถัง มันสามารถยิงกระสุนควันหรือกระสุนต่อต้านบุคคล ซึ่งคล้ายคลึงกับลูกระเบิด "S" แบบเก่าในด้านการทำงาน พัดลมระบายอากาศในป้อมปืน ถูกย้ายไปอยู่ตรงกลางของหลังคาป้อมปืน เพื่อเปิดที่ว่างให้กับอาวุธป้องกันตัวระยะประชิด เครื่องยิงลูกระเบิดควันรุ่น NbK39 ซึ่งติดตั้งบนป้อมปืนก็ถูกยกเลิกด้วยเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อตัวถังนั้น รวมถึงการลดจำนวนไฟหน้า ยี่ห้อ Bosch จาก 2 ดวง เหลือเพียง 1 ดวง โดยติดตั้งตรงกลางของแผ่นเกราะด้านหน้าพลขับ

ระหว่างต้นปี 1944 รถถังไทเก้อร์เปลี่ยนไปใช้ล้อกดสายพานแบบใหม่ เป็นแบบขอบโลหะ (เดิมเป็นขอบโลหะหุ้มยาง) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับแพนเธ่อร์และแพนเธ่อร์ 2 นอกเหนือจากนี้ ล้อกดสายพานด้านนอก (อันที่ 3) บนแกนล้อแต่ละแกนถูกยกเลิก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาน้ำแข็งและโคลนจับตัวแน่นได้ การใช้เครื่องระบายอากาศ Feifel ถูกยกเลิกในปี 1943 แม้ว่าจะเห็นบ่อยๆ บนเจ้าไทเก้อร์รุ่นเก่าอีกนานหลังจากนั้น ด้วยการปรับมาใช้ cupola ที่ออกแบบสำหรับไทเก้อร์ 2 รุ่น B, ไทเก้อร์ รุ่น E ก็ได้รับการติดตั้งกล้องส่องทางไกลตาเดียว รุ่น TZF9 สำหรับพลปืนใหญ่ ซึ่งต้องการรูไว้ส่องมอง เพียงรูเดียวเท่านั้นในแผงคอปืนใหญ่

รถถังไทเก้อร์ รุ่น E จำนวน 84 คันได้รับการดัดแปลงเป็นรถถังบัญชาการ โดยการติดตั้งอุปกรณ์วิทยุ และเสาอากาศพิเศษ รถถังเหล่านี้มีที่เก็บกระสุนปืนใหญ่ลดลงเหลือ 66 นัด ขณะที่กระสุนปืนกล MG 34 ถูกลดเหลือ 4050 นัด รถถังบัญชาการได้รับนามเรียกขานว่า Panzerbefehlswagen mit 8.8CM KwK L/56 หรือ Panzerbefehlswagen Tiger ausf E

ไทเก้อร์ รุ่น E ที่ผลิตออกมาในระยะหลังๆ เกือบทั้งหมด จะได้รับการ "ซิมเมอริท" โดยการฉาบปูน ป้องกันระเบิดแม่เหล็กบนพื้นผิวแนวตั้งทั้งหมด และเกือบทั้งหมดจะมีโล่ทำด้วยแผ่นโลหะ ห่อหุ้มชุดท่อไอเสีย แม้ว่ารูปแบบของโล่นี้จะเปลี่ยนไปหลายครั้งก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธุ์ 1944 นามเรียกขานอย่างเป็นทางการของเจ้าไทเก้อร์ก็เปลี่ยนอีก คราวนี้เปลี่ยนเป็น Panzerkampfwagen Tiger ausf E


Sturmtiger

รถถังจู่โจม Sturmtiger ถือกำเนิดมาจากความต้องการของกองทัพบกเยอรมัน ที่อยากจะได้ปืนใหญ่จู่โจมขนาดหนัก ขับเคลื่อนด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำลายที่มั่น ป้อมปราการและอาคารขนาดใหญ่ได้ รถถังนี้ถูกมองว่า จะนำไปใช้เพื่อการสู้รบในเมือง อย่างเช่นที่ปะทะกันอยู่ที่สตาลินกราด แรกทีเดียวนั้นทางกองทัพบก ต้องการให้ติดปืนใหญ่ขนาด 210 มม. แต่ปืนดังกล่าวมันหาไม่ได้ ทางกองทัพบกก็เลยหันไปคว้าเอา Raketenwerfer 61 L/54 - เครื่องยิงจรวดขนาด 380 มม. ซึ่งได้รับการพัฒนาให้กับกองทัพเรือเยอรมัน ใช้เป็นอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ มีการตัดสินใจว่าแชสซีของไทเก้อร์ รุ่น E เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นแชสซี สำหรับระบบอาวุธใหม่นี้ และบริษัทอัลเค็ทท์ ก็เริ่มต้นพัฒนารถถังนี้ระหว่างปี 1943 ในเดือนตุลาคม 1943 รถถังต้นแบบก็ประสบความสำเร็จในการสาธิตให้กองทัพบกชม และได้รับคำสั่งให้เริ่มทำการผลิตในกลางปี 1944 บริษัทแบรนเด็นเบอเก้อร์ ไอเซ่นเวิร์ค ผลิตโครงสร้างหลัก และบริษัทอัลเค็ทท์ ทำการประกอบขั้นสุดท้าย ในโรงงานของตนในเบอร์ลิน-สปานเดา

โครงสร้างหลักของรถถังใหม่นี้ มหึมาด้วยเกราะด้านหน้าหนา 150 มม. และเกราะด้านข้างและด้านหลังหนา 80 มม. ตัวถังช่วงล่างมีเกราะด้านหน้าหนา 100 มม. เกราะด้านข้างหนา 60 มม. เกราะด้านหลังหนา 80 มม. และหลังคาหนา 40 มม. ช่องมองหุ้มเกราะของพลขับ และแท่นกลมติดตั้งปืนกล MG 34 ถูกวางตำแหน่งไว้ในเกราะด้านหน้า รวมทั้งช่องมองสำหรับพลปืน มองด้วยกล้อง Pak ZF3X8 ช่องยิงปืนกลมือถูกติดตั้งในเกราะด้านข้าง และมีช่องเปิดทรงกลมขนาดใหญ่ ตรงกึ่งกลางของแผ่นเกราะด้านหลังของโครงสร้างหลัก เป็นช่องทางเข้าออก ปั้นจั่นสำหรับยกกระสุนจรวดเข้าบรรจุในตัวรถ ถูกติดตั้งไว้ทางมุมขวาด้านหลังของโครงสร้างหลัก หลังคาประกอบด้วยเครื่องระบายอากาศและพัดลม ช่องเปิดทรงกลม 1 อัน และช่องเปิดทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสองบาน 1 อัน ไว้สำหรับเปิดรับกระสุนจรวด ส่วนหลังของช่องเปิดนี้ถูกถ่วงน้ำหนักด้วยสปริง และบรรจุอาวุธป้องกันตัวระยะประชิด

ภายในโครงสร้างหลักมีรางเก็บกระสุนจรวด 6 ราง บรรจุกระสุนจรวดได้ทั้งสิ้น 12 ลูก แต่ละลูกหนัก 345 กก. และยาว 1420 มม. ลำกล้องของเครื่องยิงจรวดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 380 มม. และกระสุนจรวดมีพิสัยยิงไกลสุด 5670 เมตร ถาดบรรจุกระสุนมีล้อเลื่อนได้ ช่วยให้พลประจำรถ สามารถบรรจุกระสุนจรวดเข้าเครื่องยิงด้วยมือเมื่อลำกล้องมีมุมเงยเท่ากับ 0 องศา มีเครื่องกว้าน (winch) หนึ่งตัว ติดตั้งภายใต้หลังคา ซึ่งช่วยให้พลประจำรถยกกระสุนเข้าเก็บในรางเก็บกระสุน และออกจากรางเก็บกระสุนเพื่อบรรจุในถาดบรรจุกระสุน พลประจำรถมีทั้งหมด 5 คน คือผู้บังคับการรถ พลขับ พลสังเกตการณ์ และพลบรรจุ 2 คน รถถังนี้ได้รับนามเรียกขาน อย่างเป็นทางการว่า 38 cm RW61 auf Sturmmoerser Tiger แต่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ในหมู่ทหารหาญในนาม Sturmtiger

ถึงแม้ว่ากระสุนจรวดจะมีประสิทธิผลในการทำลายล้างเป้าหมายส่วนใหญ่ Sturmtiger ก็เชื่องช้า และเชื่อถือไม่ค่อยได้ในเรื่องเครื่องยนต์กลไก ส่วนใหญ่ถูกข้าศึกยึดไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พลประจำรถสละรถ เพราะเกิดปัญหาเครื่องยนต์กลไก แม้จะมีเกราะหนาหนัก Sturmtiger ก็เป็นเป้าใหญ่เสียจนมีจำนวนหนึ่งถูกยิง และทำลายโดยรถถังฝ่ายสัมพันธมิตร รถถังฝ่ายสัมพันธมิตรจะล้อมวงเข้าเล่นงานเจ้า Sturmtiger จากด้านหลัง ที่ซึ่งเกราะมีความหนาน้อยที่สุด และเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี



Tiger II ausf B (King Tiger)

ไทเก้อร์ 2 ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นคำตอบต่อคำเรียกร้องของ Waffenamt (หน่วยพัฒนาสรรพาวุธ) ของกองทัพบกเยอรมัน ซึ่งต้องการรถถังใหม่เพื่อที่จะมาแทนไทเก้อร์ รุ่น E คำเรียกร้องนี้มีขึ้น เพราะไทเก้อร์ รุ่น E มีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์กลไกอย่างต่อเนื่อง และเพราะเกิดความรู้สึกว่า มีความจำเป็นต้องติดตั้งอาวุธขนาดใหญ่ขึ้น เกินกว่าที่ไทเก้อร์ รุ่น E จะรองรับไหว

ทั้งปอร์ชและเฮนส์เชลถูกขอให้ออกแบบรถถังหนักคันใหม่นี้ ปอร์ชออกแบบมา 2 รุ่น ทั้ง 2 รุ่นติดตั้งป้อมปืนแบบเดียวกัน และปืนใหญ่ขนาด 88 มม. KwK43 L/71 รุ่น 180 ติดตั้งป้อมปืนค่อนไปทางด้านหน้า ในศูนย์กลางของลำตัว ขณะที่รุ่น 181 ติดตั้งป้อมปืนทางด้านหลังของลำตัว ทั้ง 2 รุ่นกะจะใช้ระบบขับเคลื่อน แกสโซลีน-ไฟฟ้าอันเป็นของ VK 4501(P) แผนแบบ VK 4502 (P) ของปอร์ช ก็พ่ายแพ้แก่ VK4503(H) ของเฮนส์เชลอีก ประการแรก เป็นเพราะระบบขับเคลื่อนลูกผสมแกสโซลีน-ไฟฟ้า ยังคงไม่น่าเชื่อถือ เท่าระบบขับเคลื่อนตามแบบฉบับเดิม ที่ใช้ในรถถังของเฮนส์เชล นอกจากนี้ การขาดแคลนโลหะทองแดง สำหรับผลิตระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ก็ยิ่งขาดแคลนหนักยิ่งกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก

รถถังต้นแบบ VK4503 (H) ซึ่งประสบความสำเร็จของเฮนส์เชล เป็นรถถังตามแบบฉบับเดิม ได้รับการออกแบบมาในลักษณะเดียวกับไทเก้อร์ รุ่น E ตามสเป็คนั้นกำหนดให้มีรูปร่างที่ทนทานต่อกระสุนมากที่สุด และเจ้า VK4503 (H) ก็มีเกราะแนวเฉียงรอบตัว เกราะด้านหน้าเพิ่มความหนาเป็น 150 มม. อย่างไรก็ตาม เกราะด้านข้างยังคงหนา 80 มม. โครงการนี้ได้รับลำดับความสำคัญสูงสุด แต่ก็ล่าช้าไปหลายเดือนเพื่อที่จะร่วมมือ ประสานงานกับบริษัทมาน ซึ่งกำลังพัฒนารถถังแพนเธ่อร์ 2

การประสานงาน ทำให้มีการใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานร่วมกันเป็นจำนวนมากระหว่างรถถังทั้งสอง นโยบายนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้สถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนบรรเทาเบาบางลง ผลก็คือ ถึงแม้ว่าไทเก้อร์ 2 จะพัฒนามาจากไทเก้อร์ แต่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนแพนเธ่อร์ที่ขยายใหญ่ขึ้น และใช้ชิ้นส่วนจำนวนหนึ่งร่วมกับแพนเธ่อร์ 2 ชิ้นส่วนร่วมเหล่านี้รวมถึงรายละเอียดแท่นเครื่องยนต์ขั้นต้น cupola ช่องเปิดในลำตัว ล้อกดสายพานแบบขอบโลหะ และส่วนประกอบเครื่องยนต์กลไกภายในจำนวนมาก

ในเดือนตุลาคม 1943 รถถังต้นแบบไทเก้อร์ 2 ก็ได้รับการตรวจสอบโดยฮิตเล่อร์ และนายทหารระดับสูงคนอื่นๆ ของเยอรมัน และในเดือนมกราคม 1944 รถถังจากสายพานการผลิตคันแรกๆ ก็เริ่มทยอยออกจากโรงงานของเฮนส์เชล รถถังไทเก้อร์ 2 ที่ผลิตออกมา 50 คันแรกใช้ป้อมปืนที่ออกแบบมาเพื่อแผนแบบของปอร์ช ซึ่งพ่ายแพ้การแข่งขัน ป้อมปืนเหล่านี้มีเกราะด้านหน้าและแผงคอปืนใหญ่เป็นรูปโค้ง ซึ่งทำให้เกิดกับดักกระสุนมรณะใต้แผงคอนั้น (กับดักกระสุน คือบริเวณพื้นที่ที่หักเหกระสุนข้าศึกที่กำลังพุ่งเข้ามาหา ให้เข้าไปในตัวรถ - ในกรณีนี้คือต่ำลงไปในตำแหน่งพลขับ) ผลก็คือ เฮนส์เชลได้รับการร้องขอ ให้ออกแบบป้อมปืนใหญ่ แบบของเฮนส์เชลไม่เพียงแต่กว้างขวางกว่า แต่ยังป้องกันได้ดีกว่ามากด้วย มันยังผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่าอีกด้วย ป้อมปืนของเฮนส์เชลจึงได้รับการคัดเลือก ให้เป็นมาตรฐาน และติดตั้งบนรถถังทุกคันที่ผลิตออกมาหลังจากนั้น

ไทเก้อร์ 2 รุ่น B มีระบบขับเคลื่อนที่ปรับปรุงมาจากของไทเก้อร์ รุ่น E และมีความเร็วเกือบจะเท่ากัน อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นจะต้องลากรถถังคันอื่นที่เครื่องเสีย แรงเค้นที่เกิดขึ้นก็มักจะทำให้เครื่องพังไปด้วย ขณะที่เฮนส์เชลและผู้รับเหมาช่วง ได้พยายามแก้ไขปรับปรุงอย่างมากมาย และรถถังนี้ก็มีเครื่องยนต์กลไกดีกว่าไทเก้อร์ รุ่น E รุ่นแรกๆ แต่โชคร้ายที่พวกมันเป็นรถถังที่หนักที่สุด ที่มีใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำหนักและขนาดของไทเก้อร์ 2 ทำให้พวกเยอรมันมีปัญหามากมายในการขนส่งและกระจายกำลังหน่วยรถถังไทเก้อร์ 2 แม้ว่าจะผลิตได้ง่ายกว่าไทเก้อร์ รุ่น E แต่เจ้าไทเก้อร์ 2 รุ่น B นี้ก็ต้องใช้เหล็กกล้าและแรงงานคนจำนวนมหาศาล ทรัพยากรเหล่านี้น่าจะถูกใช้อย่างฉลาดกว่านี้ โดยนำไปผลิตรถถังขนาดกลางเช่นแพนเธ่อร์จำนวนมากขึ้นยังจะดีกว่า

รูปแบบพื้นฐานของไทเก้อร์ 2 รุ่น B เหมือนกับของไทเก้อร์ รุ่น E เกราะแนวเฉียงด้านหน้าทำให้ต้องยกเลิกช่องมองของพลขับ ซึ่งถูกแทนที่ด้วยกล้องเพอริสโคปหมุนได้ ซึ่งติดตั้งอยู่ข้างหน้าพลขับ พลวิทยุก็มีกล้องเพอริสโคปติดตั้งตายตัวอยู่เหนือแท่นกลม ซึ่งติดตั้งปืนกล MG34 ช่องเปิดทั้ง 2 ช่องเปิดโดยยกขึ้นและหมุนออก เช่นเดียวกับฝาเปิดบน cupola ของป้อมปืน ป้อมปืนไม่มีตะกร้า แต่มีที่เก็บขนาดใหญ่ทางด้านหลัง ซึ่งเก็บกระสุนได้ 22 นัด การหมุนป้อมปืนด้วยพลังไฮดรอลิค เป็นแบบเดียวกับของไทเก้อร์ และมีปัญหาหมุนช้าเช่นเดียวกัน ป้อมปืนถูกขยายออกไปทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อรองรับน้ำหนักของปืนใหญ่ขนาด 88 มม. KwK43 L/71 (ขนาดเดียวกันกับที่ใช้ในไทเก้อร์ แต่ยาวกว่า) โดยไม่ทำให้กลไกวงแหวนของป้อมปืนต้องรับน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งวงแหวนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1855 มม.

เกราะด้านหน้าของป้อมปืนของปอร์ชหนา 110 มม. ด้านข้างและด้านหลังหนา 80 มม. ป้อมปืนของปอร์ชมีความซับซ้อนพอสมควร แผ่นเกราะด้านหน้าเป็นรูปโค้งและหนามาก และป่องออกทางด้านซ้ายเพื่อเป็นที่สำหรับ cupola ป้อมปืนของเฮนส์เชล มีแผ่นเกราะด้านหน้าเรียบ หนา 180 มม. เกราะด้านข้างและด้านหลังหนา 80 มม. ป้อมปืนทั้ง 2 แบบมีช่องทางเข้าออกทางด้านหลัง และช่องเปิดสำหรับพลบรรจุกระสุนบนหลังคา หลังคาของป้อมปืนทั้ง 2 แบบหนา 40 มม. ป้อมปืนของเฮนส์เชล มีแผงคอปืนใหญ่รูปร่างคล้ายหัวหมูป่า ซึ่งให้การป้องกันที่ดีเยี่ยมแก่ที่ติดตั้งปืนใหญ่

อาวุธหลักของไทเก้อร์ 2 คือปืนใหญ่ขนาด 88 มม. KwK43 L/71 ซึ่งได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นปืนใหญ่รถถัง ที่ดีที่สุดรอบด้าน (best all-around) ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีวิถีตรง และมีพลังอำนาจที่จะทำลายล้างรถถังฝ่ายสัมพันธมิตร เกือบทุกคันจากระยะยิงที่ไกลมาก อย่างไรก็ตาม การหมุนของป้อมปืนนั้นช้ามากๆ อย่างเร็วที่สุดการหมุนรอบตัว 360 องศา ต้องใช้เวลา 19 วินาที แต่มีบ่อยครั้งที่มันใช้เวลาถึง 75 วินาที การหมุนด้วยมือนั้น ทั้งพลปืนและพลบรรจุกระสุน จะต้องช่วยกันหมุน พวงมาลัยมือหมุนของพลปืนต้องหมุนถึง 700 รอบ จึงจะหมุนป้อมปืนได้ 1 รอบ (360 องศา) ขณะที่พวงมาลัยมือหมุน ของพลบรรจุกระสุนต้องหมุน 680 รอบ แน่นอน การหมุนด้วยพลังไฮดรอลิคเป็นที่นิยมมากกว่า แม้ว่ามันจะช้าก็ตาม

อาวุธรองประกอบด้วยปืนกล MG34 ติดตั้งทางด้านหน้า ปืนกล MG34 ร่วมแกนกับปืนใหญ่ และปืนกล MG42 สำหรับผู้บังคับการรถใช้ บนแท่นติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งติดอยู่กับ cupola มีกระสุนปืน 7.92 มม. จำนวน 5850 นัดติดไปกับรถ

ไทเก้อร์ 2 ที่ดัดแปลงไปเป็นรถถังบัญชาการมีวิทยุและเสาอากาศพิเศษติดตั้งในป้อมปืน ทำให้มีที่เก็บกระสุนปืนใหญ่น้อยลง รถถังบัญชาการได้รับนามเรียกขานว่า Panzerbefehlswagen mit 8.8CM KwK43 L/71 หรือ Panzerbefehlswagen Tiger ausf B


Jagdtiger

นโยบายของกองทัพบกเยอรมันในช่วงกลางปี 1943 ก็คือพัฒนาแท่นติดตั้งปืนใหญ่อัตตาจร ให้กับแชสซีรถถังใหม่ๆ แต่ละคันที่ออกมา การนี้ทำให้พวกเยอรมันสามารถติดตั้งอาวุธบนแชสซีนั้น ได้ใหญ่กว่าที่จะติดตั้งกับป้อมปืนที่หมุนได้ เมื่อเฮนส์เชลออกแบบไทเก้อร์ 2 รุ่น B บริษัทก็ร่วมมือกับบริษัทครุปป์ ในการออกแบบไทเก้อร์ 2 รุ่นติดตั้งปืนใหญ่อัตตาจร

โมเดลทำด้วยไม้ขนาดเท่าของจริงถูกตั้งแสดงในเดือนตุลาคม 1943 และรถถังต้นแบบคันแรกปรากฏตัวในเดือนเมษายน 1944 ตัวอย่าง 2 คันถูกสร้างด้วยระบบกันสะเทือนที่ออกแบบโดยปอร์ช คล้ายกับที่ใช้บนรถถังเฟอร์ดินันด์-อีเลแฟ้นท์ ขณะที่ระบบกันสะเทือนนี้ช่วยลดเวลาในการผลิต และใช้พื้นที่ด้านในตัวถังน้อยลง แต่ส่วนประกอบของมันได้รับแรงเค้นสูงกว่า และอย่างน้อยก็มีครั้งหนึ่ง ที่แท่นล้อทั้งแท่นหักหลุดออกจากตัวถังในระหว่างการทดสอบ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า รถถังที่ผลิตออกมาจะสามารถเข้าประจำการได้อย่างรวดเร็ว จึงใช้ระบบกันสะเทือนแบบคานรับแรงบิด (torsion bars) ของเฮนส์เชล ในรถถังทุกคันที่ผลิตออกมา

รถถังใหม่เดิมให้ชื่อว่า Jagdpanzer VI ต่อมาเปลี่ยนเป็น Jagdtiger SdKfz 186 โดยพื้นฐานแล้วมันคือตัวถังของไทเก้อร์ 2 ที่ขยายให้ยาวขึ้นอีกหน่อย และมีโครงสร้างหลักเป็นรูปกล่องขนาดใหญ่ ติดตั้งในพื้นที่ที่เคยติดตั้งป้อมปืน เกราะด้านหน้าหนา 250 มม. ขณะที่ด้านข้างและด้านหลังหนา 80 มม. ตัวถังมีเกราะด้านหน้าหนา 100 ถึง 150 มม. ด้านข้างและด้านหลังหนา 80 มม. แผ่นเกราะหลังคาและพื้นหนา 40 มม. ประตูขนาดใหญ่ 2 บานมีบานพับ ติดตั้งบนแผ่นเกราะด้านหลังของโครงสร้างหลัก และช่องเปิดเพิ่มเติม เครื่องระบายอากาศ กล้องเพอริสโคป และช่องมองสำหรับพลปืน ถูกติดตั้งในหลังคาของส่วนยุทธการ พลขับและพลวิทยุมีช่องเปิดบนหลังคาของตัวถัง อันเป็นแบบมาตรฐานของไทเก้อร์ 2

อาวุธหลักของ Jagdtiger คือปืนใหญ่ขนาด 128 มม. PaK44 L/55 อันเป็นปืนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งติดตั้งบนรถถังในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีขีดความสามารถทำลายล้างรถถังหนักของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เกือบทุกคันจากระยะยิงเกือบจะไกลสุด มีรถบรรทุกกระสุนต่างหาก ซึ่งบรรทุกกระสุนทั้งแบบระเบิดแรงสูง (HE - High Explosive) และแบบเจาะเกราะ (AP - Armor-Piercing) ได้รวม 40 นัด อาวุธรองประกอบด้วยปืนกล MG34 ในแท่นกลมมาตรฐานของไทเก้อร์ 2 และปืนกล MG42 เพื่อใช้ต่อสู้อากาศยาน โดยมีแท่นติดตั้งทรงสูง อยู่บนฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหลัง

Jagdtiger มีปัญหาเครื่องเสียบ่อยๆ เพราะว่าแชสซีและระบบส่งกำลัง ถูกใช้งานเกินกำลังด้วยน้ำหนักของรถถัง นอกจากนี้ขนาดของมันทำให้ยากจะหลบหลีกจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งได้เข้าครอบครองนภากาศ เหนือประเทศเยอรมันเกือบทั้งประเทศแล้ว ปืนใหญ่นี้เป็นอาวุธที่ยอดเยี่ยมมาก และรถถังทุกคันที่ถูกใช้ประจำการ ในที่กำบังที่ดี ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวมันเอง แต่ถ้าออกวิ่งละก็ มันจะกลายเป็นอีกเรื่องนึงไปเลย

กองพันพิฆาตรถถังกองพันหนึ่งของอเมริกันในเบลเยี่ยม พบรถถัง Jagdtiger คันหนึ่งถูกพลประจำรถสละทิ้ง จอดขวางถนนอยู่ จึงพยายามที่จะขยับเพื่อไม่ให้ขวางทาง แต่ความพยายามทั้งหมดที่จะเคลื่อนย้ายหรือลากเจ้ารถถังคันนี้ ต้องล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะหมดพิษสงถูกสละทิ้งแล้ว รถถังคันนี้ก็ยังสามารถหยุดยั้งการรุกคืบของพวกอเมริกันไว้ได้ จนกระทั่งวิศวกรสนามสามารถตัดถนนผ่านป่าใกล้ๆ กับรถถังเยอรมันที่ถูกทิ้งไว้นั้นไปได้ แม้ว่า Jagdtiger จะมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์กลไก อันเนื่องมาจากการพัฒนาอย่างรีบเร่ง และเพราะขาดแชสซีที่แข็งแกร่งกว่านี้ มันก็คือความสำเร็จทางด้านวิศวกรรมอย่างแท้จริง ความล้มเหลวของบรรดารถถังหนัก/ปืนใหญ่อัตตาจรของเยอรมันนั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นเพราะพวกมันเกินขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเยอรมัน ที่จะผลิตออกมาได้จำนวนตามที่ต้องการ และพวกมันเกินขีดความสามารถของถนนหนทาง และเครือข่ายการขนส่งทางรถไฟที่จะเคลื่อนย้ายมัน แต่ส่วนประกอบการออกแบบรถถังเยอรมันจำนวนมาก ก็ถูกนำไปใช้ในการออกแบบรถถังยุคหลังสงคราม ของฝ่ายสัมพันธมิตรหลายคัน บางทีนี่อาจจะเป็นคำจารึกบนหลุมฝังศพที่ดีที่สุด ที่รถถังไทเก้อร์ จะพึงได้รับ/


หนังสืออ้างอิง : Tiger in Action @1989 Squadron/Signal Publications, Inc.
แปลและเรียบเรียงโดย : ไพศาล หาญบุญตรง มกราคม 2545
ไทเก้อร์ - สุดยอดรถถังเยอรมัน
Model Maniac Page 13 Part B